ประเภทของประเพณี
สำหรับบทความนี้ก็ยังเป็นความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับประเพณี ซึ๋งเราควรทำความเข้าใจก่อนจะไปเจาะลึกเกี่ยวกับ ประเพณีไทย ต่างๆ ซึ่งประเภทของประเพณีก็มีอยู่ด้วยกัน 3 ประเภท ด้วยกันดังนี้
- จารีตประเพณีหรือกฎศีลธรรม หมายถึง ประเพณีที่ทุกคนจะต้องปฏิบัติตาม ถ้าคนใดฝ่าฝืนงดเว้นไม่กระทำถือว่าเป็นความผิดและชั่ว จารีตประเพณีเกี่ยวข้องกับศีลธรรมของคนส่วนรวมในสังคม และที่เห็นได้ในสังคมไทย ได้แก่ การแสดงความกตัญญูกตเวทีที่ลูกควรมีต่อบิดา มารดาเมื่อท่านแก่เฒ่า เป็นหน้าที่ของลูกจะพึงเลี้ยงดู ถ้าลูกไม่ดูแลสังคมจะลงโทษว่าเป็นคนอกตัญญู ถือเป็นความชั่วไม่มีใครอยากคบด้วย ตัวอย่างข้างต้นเป็น จารีตประเพณีไทย เราไม่ควรนำจารีตดังกล่าวไปใช้ในการตัดสินคนในสังคมอื่นๆ
- ขนบประเพณีหรือสถาบัน คือ ประเพณีที่วางระเบียบแบบแผนไว้โดยตรง คือ วางเป็นระเบียบพิธีการไว้อย่างชัดเจน ซึ่งจะถูกนำมาใชักับสถาบันทางสังคม เป็นประเพณีประจำสถาบัน แต่ประเพณีดังกล่าวอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ตามความเหมาะสมและยุคสมัย
- ธรรมเนียมประเพณีหรือประเพณีนิยม หมายถึง แนวทางปฏิบัติต่างๆ ในการดำเนินชีวิตประจำวันที่ปฏิบัติกันมาจนเคยชินเป็นปกติวิสัย เป็นเรื่องเกี่ยวกับสถานการณ์ธรรมดาสามัญที่ไม่มีความสำคัญมากมายต่อสวัสดิภาพหรือความจำเป็นของสังคม และเป็นเรื่องที่ทุกคนปฏิบัติอยู่ทั่วๆ ไปจนเป็นนิสัยหรือมาตรฐานทั่วไปในสังคมนั้น ธรรมเนียมประเพณีมีกำเนิดมาโดยไม่มีผู้ใดทราบหรือสนใจสืบประวัติที่แน่นอน อาจจะเป็นสิ่งที่มีอยู่แล้วในสังคมหรือเกิดขึ้นใหม่แล้วแพร่หลายในสังคม เป็นพฤติกรรมปกติธรรมดาโดยทั่วไป ไม่ต้องเสียเวลาไปครุ่นคิดในเรื่องเล็กๆ น้อย เช่น การไหว้ผู้หลักผู้ใหญ่ เป็นประเพณีที่คนไม่ได้ความสนใจว่ามันเป็นมาอย่างไร แต่ทุกคนควรกระทำ ถ้าหากไม่กระทำจะถูกซุบซิบนินทาได้ เป็นต้น
บทความนี้ก็ได้กล่าวเกี่ยวกับประเภทของประเพณีพร้อมด้วยตัวอย่างไปพอสมควร ผมก็คิดว่าหลายๆ คนที่อ่านกันไปน่าจะได้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องของประเพณีไปบ้างไม่มากก็น้อยครับ ติดตามอ่านบทความเกี่ยวกับ ประเพณีไทย ในบทความต่อๆ ไปได้นะครับ