ประเพณีไทย - พิธีหมั้น ตอน การนับสินสอดทองหมั้น

ไม่ได้เขียนบทความมา 2 วัน วันนี้ก็ต่อจากบทความก่อนผมจะนำเสนอ ประเพณีไทย เกี่ยวกับพิธีหมั้น ตอน การนับสินสอดทองหมั้น ครับ มาเริ่มกันเลยดีกว่า ในการยกขันหมากหมั้นนั้น ฝ่ายชายจะให้เฒ่าแก่และพ่อแม่ของตนทำหน้าที่หมั้นแทนก็ได้ แต่ในทางปฏิบัติฝ่ายชายหรือว่าที่เจ้าบ่าวมักจะมากับขบวนขันหมากหมั้นด้วย ก่อนทำพิธีเฒ่าแก่ของทั้งสองฝ่ายจะเจรจากัน เฒ่าแก่ฝ่ายชายเป็นผู้เริ่มต้นก่อนโดยพูดถึงวันและฤกษ์ยามอันเป็นมงคลในวันนี้ ตนได้ทำหน้าที่นำขันหมากของฝ่ายชายซึ่งเป็นบุตรของคนนั้นๆ มาหมั้นฝ่ายหญิงด้วยเงินสินสอดทองหมั้นเท่านั้นเท่านี้ตามที่ตกลงกันไว้ และขอให้เฒ่าแก่ฝ่ายหญิงทำการเปิดตรวจนับดูว่าถูกต้องครบถ้วนหรือเปล่า


ในการตรวจนับสินสอดทองหมั้นนี้จะต้องตรวจนับก่อนต่อหน้าเฒ่าแก่และญาติมิตรทั้งสองฝ่ายเพื่อให้ช่วยเป็นสักขีพยาน เมื่อเฒ่าแก่ฝ่ายชายบอกให้ลองตรวจนับดู ควรเปิดผ้าคลุมขันหมากออกแล้วจึงส่งให้เฒ่าแก่ฝ่ายหญิง หากมีแหวนหรือสร้อยกำไล เฒ่าแก่ทั้งสองฝ่ายจะเรียกให้ฝ่ายชายหรือว่าที่เจ้าบ่าวทำการสวมให้ฝ่ายหญิงหรือว่าที่เจ้าสาวของตน ต่อหน้าทุกคนเพื่อให้เป็นสักขีพยาน ซึ่งพิธีสวมแหวนหมั้นนี้ปัจจุบันได้นำมาใช้กันมาก คือตัดขั้นตอนการยกขบวนขันหมากหมั้นออกไป เหลือเพียงแต่การนำสินสอดและของหมั้นมาหมั้นฝ่ายหญิง และมีการกินเลี้ยงฉลองกันในหมู่ญาติมิตร ทั้งนี้แล้วแต่จะเห็นสมควร ส่วนเงินนั้นฝ่ายหญิงจะเป็นผู้เก็บรักษาไว้ หรือทำแต่พิธีสวมแหวนและทองหมั้นในวันทำพิธีหมั้น สำหรับเงินสินสอดนั้นค่อยนำมาในวันทำพิธีแต่งงาน เรื่องนี้แล้วแต่ผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่ายจะตกลง

เกี่ยวกับพิธีการหมั้นและสินสอดทองหมั้นนั้น เมื่อทำพิธีแล้ว หากต่อมาฝ่ายชายผิดสัญญา คือไม่ยกขันหมากมาแต่งงานตามวันเวลาที่ตกลงกันไว้ ทำให้ฝ่ายหญิงกลายเป็นหม้ายขันหมาก ฝ่ายชายจะต้องถูกริบสินสอดทองหมั้นทั้งหมด จะเรียกร้องคืนไม่ได้ และหากฝ่ายหญิงเป็นผู้ผิดสัญญา คือไม่ยอมแต่งงานกับฝ่ายชายไม่ว่าด้วยเหตุผลใดก็ตาม จะต้องคืนสินสอดทองหมั้นทั้งหมดแก่ฝ่ายชายจนครบถ้วน ด้วยเหตุนี้เฒ่าแก่อาจมีการจดบันทึกรายการเงินทองของหมั้นเอาไว้ให้เป็นหลักฐานเรียบร้อย แต่มักไม่ค่อยนิยมทำกันเพราะเหมือนกับว่าไม่วางใจหรือเป็นสิ่งที่ไม่ดีที่อาจจะต้องมีการทวงคืนซึ่งเกิดจากการผิดสัญญาหรือผิดพ้องหมองใจกัน

หลังจากทำพิธีหมั้นหมายเป็นที่เรียบร้อยถูกต้องแล้ว ชายและหญิงที่เป็นคู่หมั้นจะสามารถไปไหนมาไหนด้วยกันได้อย่างเปิดเผยมากกว่าสมัยที่เพียงแต่ชอบพอกัน แต่ถึงอย่างไรตาม ประเพณีไทย ก็ไม่ยอมให้เป็นอิสระอยู่นอกเหนือสายตาของผู้ใหญ่เสียทีเดียว จนกว่าจะถึงวันแต่งงาน ซึ่งในวันทำพิธีหมั้นก็จะกำหนดหรือประกาศอย่างเป็นทางการอีกครั้ง เกี่ยวกับกำหนดวันทำพิธีมงคลสมรสเพื่อให้แขกทราบ จบไปแล้วนะครับสำหรับเรื่องของการนับสินสอดทองหมั้น ในบทความต่อไปจะมานำเสนอเกี่ยวกับฤกษ์ในการแต่งงานครับ
Share this Google+