ประเพณีไทย - การกิ๋นแขก-ที่สันกำแพง :: ประเพณีภาคเหนือ ::

สวัสดีครับไม่ได้มานำเสนอบทความเกี่ยวกับ ประเพณีไทย มา 2 วันแล้ว สำหรับประเพณีที่มานำเสนอในครั้งนี้เป็นประเพณีของภาคเหนือครับ นั้นคือประเพณีการกิ๋นแขก - ที่สันกำแพง ตัวผมก็ไม่ค่อยรู้เรื่องเท่าไรหรอกครับสำหรับประเพณีของแต่ละภาคแต่ไม่เป็นไร ยังไงก็จะนำเสนอให้ทุกท่านได้อ่านกันครับ


ประเพณีแต่งงาน หรือเรียกแบบเมืองเหนือว่า "กิ๋นแขก" ที่บ้านป่าไผ่ แช่ช้าง อำเภอสันกำแพง เขายังรักษาประเพณีเดิมของเขาอยู่ เมื่อหนุ่มสาวไป "แอ่วหากัน" จนตกลงปลงใจที่จะล่มหัวจมท้ายด้วยกันแล้ว สาวๆ ซึ่งตามประเพณีของเขาเมื่ออย่างเข้าสู่วัยรุ่นสาว จะต้องหาหมูมาเลี้ยงไว้ 1-2 ตัว หมูที่เลี้ยงไว้นี้ก็เพื่อจะเป็นอาหารสำหรับเลี้ยงดูแขกเหรื่อในเวลาแต่งงานหรือ "กิ๋นแขก" นั่นเอง และหัวหมูก็จะได้เอาเป็นเครื่องสังเวยใส่ผีอีกด้วย นอกจากจะเลี้ยงหมูแล้ว สาวเจ้าก็จะต้องหาฝ้ายมาปั่นทำเป็นด้ายทอผ้า สำหรับเย็บฟูก (ที่นอน เมืองเหนือเรียกว่า สะลี หรือเรียกรวมกันว่า สะลีที้นอน) ของเหล่านี้สาวเจ้าจะเตรียมไว้รวมทั้งมุ้งหมอนด้วย เพื่อความสะดวกในเวลาแต่งงาน ซึ่งทางฝ่ายชายไม่ต้องจัดหาอย่างไร นอกจากจะมีเงินทองติดตัวไปบ้างตามธรรมเนียม แต่บางรายเมื่อรักใคร่กันจริงแล้ว แม้ฝ่ายชายไม่มีเงินสักแดงาวเจ้าก็ไม่รังเกียจ และการแต่งงานนี้ เมื่อหนุ่มสาวรักใคร่กันแล้ว ทางบิดามารดาฝ่ายหญิงก็มักไม่รังเกียจ เพราะเห็นว่าเป็นความสุขของลูกสาว และให้เสรีทำนองว่า "ปลูกเรือนตามใจผู้อยู่"

การ "กิ๋นแขก - แต่งงาน" นี้ เมื่อหาฤกษ์งามยามดีได้แล้ว ก็กำหนดวันที่จะจัดงาน ทางฝ่ายหญิงก็จะจัดเตรียมอาหารไว้เลี้ยงดูแขกเหรื่อ ตามสมควรแก่ฐานะของตน ทางฝ่ายชายก็จะมีการเลี้ยงดูทางฝ่ายตนเช่นเดียวกัน และทางฝ่ายชายจะต้องเตรียมสิ่งของดังต่อไปนี้ คือ ดาบ 1 เล่ม, ขันหมาก 1 ขัน, หีบ 1 ใบ, ผ้าห่มใหม่ 1 ผืน, และเงินใส่ผีอีก 18 แถบ (เงินแถบ คือเงินรูปีทางภาคเหนือนิยมใช้ในสมัยก่อน ปัจจุบันใช้เงินบาทของเราแทน แต่เพิ่มขึ้นเป็น 50 บาท)

เมื่อพร้อมแล้ว ทางฝ่ายหญิงก็จะให้ผู้แทนถือขันข้าวตอกดอกไม้มาขอเชิญเจ้าบ่าวไปยังบ้านสาว เมื่อขบวนของเจ้าบ่าวไปถึงประตูบ้านเจ้าสาว ก็จะมีการกันประตูบ้าน ไม่ให้เจ้าบ่าวเข้าไป พวกที่กั้นประตูจะถามว่า "โห จะไปไหนกันปะล้ำปะเหลือ" (จะไปที่ไหนกันมากมายนะ) ผู้แทนของเจ้าบ่าวจะตอบว่า "หมู่เฮา เอาแก้วตีแสงดีมาหื้อมาปั้นจะใดเล่า" (พวกเราเอาแก้วดีแสงดี มาให้อย่างไรล่ะ) ทางฝ่ายเจ้าสาวก็จะว่า "ประตูเงิน ประตู๋คำ จะเข้าไปง่ายบ่ได้ จะต้องซื้อเข้าก่อนก่ะ" (ประตูเงินประตูทอง จะเข้าไปง่ายไม่ได้จะต้องเสียค่าผ่านประตูก่อน) ทางฝ่ายเจ้าบ่าวก็จะถามว่า "บ่เป็นหยัง จะเอาเท่าใดเล่า" (ไม่เป็นไร จะเอาเท่าไหร่ล่ะ)

ต่อไปก็จะมีการต่อรองราคา พอได้เวลาและราคาอันสมควร ทางเจ้าบ่าวก็จะจ่ายเงินค่าผ่านประตูให้ไป เมื่อผ่านประตูเข้าก็จะมีการโห่ร้องกันอย่างสนุกสนาน การกั้นประตูนี้ อาจจะเรียกตอนขึ้นบันไดอีก และที่บันไดนี้จะมีเด็กๆ ญาติของเจ้าสาวมาตักน้ำล้างเท้าให้เจ้าบ่าว เจ้าบ่าวก็จะต้องให้เงินบ้างตามสมควรแล้วหลังจากนั้น ก็จะมีญาติผู้ใหญ่ทางฝ่ายหญิงจูงมือเจ้าบ่าวเข้าไปนั่งกับเจ้าสาวเพื่อทำการผูกมือ (เรียกว่ามัดมือ) และรับพรจากผู้ใหญ่และแขกเหรื่อที่ได้รับเชิญมาต่อไป

ในด้านการทำพิธี "เสียผี" นั้นเป็นหน้าที่ของบิดาหรือมารดาของฝ่ายหญิงแล้วแต่ฝ่ายใดจะเป็น "เก๊าผี" ซึ่งเป็นพิธีการภายใน คนภายนอกไม่มีส่วนรู้เห็น ส่วนหนุ่มสาวนั้น เมื่ออยู่กินด้วยกันได้ 3 วัน 7 วัน ก็จะมีการ "ไหว้พ่อตระกูลด้วย ซึ่งการรับไหว้ ก็มีการให้ศีลให้พร ให้มีความสุขความเจริญในชีวิตสมรสต่อไป หลังจากนั้น หนุ่มจะต้องอยู่บ้านสาวกับพ่อตาแม่ยายอย่างน้อยก็ 1 ปี เพื่อฝึกงานอาชีพกับพ่อตา เมื่อเห็นว่ามีความสามารถพอแล้วก็ "ลง" ตั้งครอบครัวใหม่ของตนเองต่อไป แต่พิธีการให้พ่อตาแม่ยายเป็นพี่เลี้ยงในการ "ตั้งต้นชีวิตครอบครัวใหม่" นี้ ปัจจุบันไมสู้นิยมกัน เมื่อแต่งงานแล้วไม่มานนักก็ลงไปตั้งครอบครัวใหม่ต่างหาก ไม่อยู่ในอาณัติของพ่อตาแม่ยายต่อไป
Share this Google+