ประเพณีไทย - ฮ้องขวัญหรือเฮียกขวัญ :: ประเพณีภาคเหนือ ::

สำหรับ ประเพณีไทย ที่ผมจะมานำเสนอกันในวันนี้คือประเพณีของพี่น้องชาวเหนือครับ มาเริ่มกันเลยดีกว่าครับ เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลา

"ฮ้วงขวัญหรือเฮียกขวัญ" ก็คือพิธีเรียกขวัญนั่นเอง ความมุ่งหมายของการทำพิธีนี้มีอยู่ว่า ตามธรรมดามนุษย์เราทุกคนจะต้องมีขวัญประจำตัวอยู่ 32 ขวัญ และขวัญดังกล่าวนี้มักจะเตลิดเปิดเปิงไป ในเมื่อเราเกิดการตกใจอย่างใหญ่หลวงที่สุดในชีวิต ชนิดที่เรียกว่า "ตกใจจนขวัญหาย" จะทำให้มีจิตใจอันไม่สงบ เมื่อเป็นเช่นนี้ก็จะต้องทำพิธีฮ้องขวัญหรือเรียกขวัญนี้ขึ้น เพื่อรับขวัญให้กลับคืนมาโดยสมบูรณ์ และการทำพิธีฮ้องขวัญนี้ นอกจากคนที่ประสบกับการดังกล่าว ก็มีคนเจ็บไข้ได้ป่วยที่จะต้องล้มหมอนนอนเสื่อเป็นเวลาแรมเดือนก็จะมีจิตใจอ่อนไหว ก็จะต้องทำพิธีเรียกขวัญด้วย


การ "ฮ้องขวัญ" จะต้องทำบายศรีทำนองเดียวกับบายศรีปากชาม แต่ทางเหนือนิยมทำบายศรีในขัน หรือที่เรียกว่า "สะหลุง" ทำด้วยเงินหรือเครื่องเขินและมีพานรองรับอีกชั้นหนึ่ง มีข้าวปั้น กล้วย 1 ใบ ไข่ต้ม 1 ลูก และดอกไม้ธูปเทียน และด้ายขาวสำหรับผูกมือ การทำบายศรีนี้เห็นนิยมใช้ในการทำบุญอื่นๆ เช่น ขึ้นเรือนใหม่ แต่งงาน เป็นต้น การทำพิธีก็ต้องมีอาจารย์เป้นผู้กล่าวคำฮ้องขวัญ ด้วยสำนวนโวหารแบบโบราณ ที่เกจิอาจารย์แต่งไว้อย่างคล้องจองและมีท่วงทำนองการอ่านอย่างน่าฟัง เพื่อให้คนที่ได้รับการ "ฮ้องขวัญ" เกิดกำลังใจขึ้น โวหารในการ "ฮ้องขวัญ" ก็มีอยู่ว่า ขวัญทั้ง 32 ขวัญนั้นอยู่ในตัวบุคคลที่ไหนบ้าง และหากขวัญแห่งใดหายไปก็ขอให้กลับคืนมาอยู่กับเนื้อกับตัวเสีย การอ่านโองการประมาณ 10-15 นาทีก็จบ แล้วอาจารย์ก็จะผูกมือให้ โดยผูกมือข้างซ้ายก่อน มีความว่า มัดมือซ้ายขวัญมา มัดมือขวาขวัญอยู่ ขอให้ขวัญจงกลับมาอยู่กับเนื้อกับตัวอย่าล่องลอยไปไหนอีก และขอให้มีอายุมั่นยืนยาวตลอดไปเทอญ เป็นจบพิธี การผูกมือต้องผูกทั้งสองข้าง บางคนก็จะผูกติดตัวไว้ถึง 3 วันจึงเอาออก แต่เด็กๆ เห็นผูกจนด้ายดิบสีขาวกลายเป็นสีดำไปก็มี

การ "ส่งแถน" เป็นการ "ส่งเคราะห์" อีกแบบหนึ่ง การ "ส่งแถน" นี้จะทำเมื่อมีการเจ็บป่วยเกิดขึ้นแก่บุคคลในครอบครัว และเมื่อได้รักษาพยาบาลมาพอสมควรอาการก็ไม่ทุเลาลง มีแต่ทรงกับทรุดเช่นนี้ตามจารีตของคนเมือง (หรือไทยยวน) ก็จะไปให้ "หมอเมื่อ" (หมอดู) ตรวจดวงชะตาของผู้ป่วยว่า ชะตาจะถึงฆาตหรือไม่ ดวงยังดีอยู่ไหม หากหมอเห็นว่าเกณฑ์ชะตาค่อนข้างแย่ ก็จะพลิกตำราการ "ส่งแถน" ออกมาดูว่าคนเกิดปีไหน อายุเท่าไรจะถึงฆาต และจะต้องทำการ "ส่งแถน" สะเดาะเคราะห์ และจะต้องทำพิธีอย่างไรบ้าง เรื่องนี้ก็ตกอยู่ในหน้าที่ของ "อาจารย์" หรือจะเรียกกันว่า "ปู่อาจารย์" เพราะส่วนมากพวกเป็น "อาจารย์หรือปู่อาจารย์" นี้ก็จะเป็นผู้ที่เคยบวชพระมาก่อน อ่านหนังสือพื้นเมืองได้ และมีอายุเลยวัยกลางคนไปแล้ว

การที่มีการ "ส่งแถน" นี้ ตามที่ปรากฎในคัมภีร์พื้นเมือง ซึ่งคัดลอกสืบต่อกันมาช้านานแล้วนั้น แสดงถึงความเชื่อถือของคนในยุคนั้นว่า เขาเชื่อกันว่ามนุษย์ชายหญิงคู่แรกของโลก ซึ่งเป็นบรรพบุรุษของมนุษย์ในปัจจุบันก็คือ "ปู่แถน-ย่าแถน" และเกิดมาตามปีสิบสองนักษัตร ซึ่งปู่แถนย่าจะได้ตราไว้ว่า เมื่อมีอายุเท่านั้นจะเจ็บเป็นอย่างนั้น หากได้ส่งแถนเสียแล้ว จึงค่อยบรรเทาหรือหายจากโรคพยาธินั้นๆ และควรจะให้ทานวัตถุของนั้นๆ ไปให้ผู้กำเนิดคือ "ปู่แถน-ย่าแถน"

ในคัมภีร์พื้นเมืองจะแจ้งรายละเอียดว่า ปีใดผู้ใดเกิดปีไหนควรจะมีอายุเท่าไร เช่นว่า "ผู้ใดเกิดปีกดสะง้า (ปีมะเมีย) มัดศอกจูงมา ปีเต่าสะง้า ขี่สำเภามาปีกาบสะง้า ท่านขี่หมามา ปีระวายสะง้า ถือการสะบัด (ตาลปัตร) มา ขี่หมากางร่มมา ปีเปิกสะง้า ถือคากางร่มมา จูงวัวถือไม้เท้า จากตีนแถนนา มีสติปัญญา มักสอนท่าน พระยาภูมิศาสตร์ปั้นเบ้า หื้อแถนพ่อลงหล่อ ธาตุไปใจรีบ (คือใจร้อน) ไม่กลัวใคร มีตัวไม่หมดไม่ใส มักเป็นแผล ให้ส่งไปหาพ่อแม่มีเบี้ย 1,000 ฝ้าย 1,000 เกลือก้อนหนึ่ง ไก่สองตัว เป็นตัวหนึ่ง ปลาตัวหนึ่ง ส่งเสียจักมีข้าวของสมบัติ อายุได้ 29 ปี จักได้หนีเสียเจ้าที่อยู่ 27 ปีหนหนึ่ง 50 ปี จักตาย ดังได้ส่งเสีย ก็จักอายุยืนไปอีก 10 ปี ล้ำนั้นไปก็อยู่ด้วยบุญแลฯ"

ก็จบไปแล้วครับนะครับ ประเพณีไทย ของพี่น้องชาวเหนือของเรา และตอนนี้บล็อกเริ่มมีเนื้อหามากขึ้นเรื่อยๆ แล้วนะครับ ยังไงก็ลองค้นหาดูแล้วกันนะครับว่ามีบทความเกี่ยวกับประเพณีอะไรบ้างสำหรับบทความนี้แค่นี้ก่อนแล้วกันนะครับ
Share this Google+