ประเพณีไทย - ประเพณีประจำปีของชาวเหนือ

สำหรับหัวข้อความรู้เกี่ยวกับ ประเพณีไทย ที่จะมานำเสนอกันในวันนี้ คือ ประเพณีประจำปีของชาวเหนือ เริ่มกันเลยดีกว่าครับ ชีวิตของชาวเหนือมักจะนิยมนับวันเริ่มต้นชีวิตตั้งแต่วันขึ้นปีใหม่หรือที่เรียกว่า "ตรุษสงกรานต์" คือ นับตั้งแต่เดือน 7 เหนือ (เดือน 5 ใต้) เป็นเดือนแรก หรือเดือนที่ 1 ในการดำเนินชีวิต แล้วหมุนเวียนเปลี่ยนไปจนกลับมาบรรจบครบรอบ 12 เดือน เรียกว่า ปีหนึ่ง เป็นเช่นนี้ตลอดมา ชีวิตประจำวันตลอดจนประเพณีการทำบุญ ก็หมุนเวียนเปลี่ยนไปตามจักรราศี เมื่อประมวลแล้ว มีดังนี้
  • เดือน 7 เหนือ (เดือน 5 ใต้ ตรงกับเดือนเมษายน) เดือนนี้มีประเพณีการเล่นสงกรานต์ ประเพณีดำหัว - ปอย บวชลูกแก้ว (บวชเณร) - ขึ้นเรือนใหม่ - เลี้ยงผีปู่ย่า
  • เดือน 8 เหนือ (เดือน 6 ใต้ ตรงกับเดือนพฤษภาคม) มีปอยบวชเณร - ปอยหลวง (งานสมโภชทานวิหาร โบสต์ กำแพง ฯลฯ) ขึ้นบ้านใหม่ - แต่งงาน - วิสาขะบูชา - ไหว้พระธาตุ
  • เดือน 9 เหนือ (เดือน 7 ใต้ ตรงกับเดือนมิถุนายน) เดือนนี้อากาศมักร้อนจัด มีคำพังเพยว่า "เดือนเก้า หมาเฒ่านอนน้ำ" หมายถึงอากาศร้อนจัด จนสุนัขแก่ๆ ต้องไปนอนในน้ำ เดือนนี้มีประเพณีการไหว้พระธาตุ เช่น พระธาตุดอยสุเทพ ในเดือน 9 เพ็ญ เดือนนี้หากฟ้าฝนดีก็เริ่มทำนา - ทำพิธีแฮกนา - หว่านกล้า
  • เดือน 10 เหนือ (เดือน 8 ใต้ ตรงกับเดือนกรกฎาคม) เดือน 10 เพ็ญ เข้าพรรษา - การทำนาเริ่มไถคราด หว่านกล้า - เริ่มเข้าฤดูฝน
  • เดือน 11 เหนือ (เดือน 9 ใต้ ตรงกับเดือนสิงหาคม) ปลูกนา - ดำนา - ทานข้าว คนเฒ่าจำศีล
  • เดือน 12 เหนือ (เดือน 10 ใต้ ตรงกับเดือนกันยายน) ฝนตกหนังน้ำมักท่วมในเดือนนี้ ประเพณีทางศาสนามีการทานข้าวสลากหรือก๋วยสลากในวันขึ้น 8-15 ค่ำ ถึงเดือน 12 แรม 15 ค่ำ - ในเดือน 12 เพ็ มีการทานอุทิศส่วนกุศลแด่คนตาย ถือว่ายมบาลปล่อยผีออกมารับของทานได้ ชีวิตประจำวันของชาวบ้านนอกจะเริ่มหว่านพันธุ์ผักเพื่อทำสวนต่อไป
  • เดือนเกี๋ยงเหนือ โบราณว่าเดือนเจียง (เดือน 11 ใต้ ตรงกับเดือนตุลาคม) ทำบุญออกพรรษา การทานสลากภัต - ทานกฐิน จนถึงเดือนยี่เพ็ญ ชาวบ้านเริ่มทำสวนปลูกผัก
  • เดือนยี่เหนือ (เดือน 12 ใต้ ตรงกับเดือนพฤศจิกายน) มีทานกฐินถึงวัน 15 ค่ำ ประเพณีลอยกระทงตามประทีป - ทอดผ้าป่า - ตั้งธรรมหลวงเทศน์มหาชาติ - เดือนนี้เป็นฤดูการทำสวนของชาวบ้าน
  • เดือน 3 เหนือ (เดือนอ้ายใต้ ตรงกับเดือนธันวาคม) มีประเพณีเทศน์มหาชาติทานทอด (ทอดผ้าป่า) ชาวบ้านก็จะเริ่มเกี่ยวข้าวดอ เดือน 3 แรม เกี่ยวข้าวปี ในด้านชาวสวนก็จะเริ่มปลูกพืชล้มลุก เช่น กะหล่ำปลี กะหล่ำดอกและอื่นๆ 
  • เดือน 4 เหนือ (เดือนยี่ใต้ ตรงกับเดือนมกราคม) ในเดือนนี้การเก็บเกี่ยวจะแล้วเสร็จ และเก็บเกี่ยวข้าวเข้ายุ้งฉาง เสร็จฤดูการทำนา เมื่อเก็บข้าวเสร็จแล้ว ก็มีการทำบุญเรียกว่า ทานข้าวจี่่ข้าวหลาม และประเพณีขึ้นเรือนใหม่แต่งงาน
  • เดือน 5 เหนือ (เดือน 3 ใต้ ตรงกับเดือนกุมภาพันธ์) มาฆะบูชามีการทำบุญปอยหลวง (งานมหกรรมฉลองสมโภช) หากมีศพพระก็มักจะทำพิธีเผาในเดือนนี้ เรียกว่าลากปราสาทศพพระ หรือทางไทยใหญ่เรียกว่า "ปอยล้อ" อากาศเริ่มร้อน
  • เดือน 6 เหนือ (เดือน 4 ใต้ ตรงกับเดือนมีนาคม) ในเดือนนี้มีการทำบุญปอยน้อย (บวชเณร - อุปสมบท) ขึ้นบ้านใหม่ - แต่งงาน
ประเพณีที่ไม่ใช่เกี่ยวกับศาสนา เช่น ประเพณีการเลี้ยงผี หรือการฟ้อนผีมด ผีเม็งนั้น เริ่มตั้งแต่ 7-9 เหนือ ทำกันภายใน 3 เดือนนี้ ประเพณีการทำบุญและชีวิตประจำวันของชาวเหนือนั้น เมื่อประมวลแล้วสรุปได้ดังกล่าวมาแล้วในข้างต้น จะเห็นได้ว่าชีวิตของชาวเหนือนั้น ดำเนินไปอย่างมีระเบียบและมีประเพณีที่คลุกคลีกับพุทธศาสนาอย่างใกล้ชิด ซึ่งเนื่องจากศรัทธาปสาทะของชาวภาคเหนือที่มีต่อพุทธศาสนานี้เอง ที่ทำให้วิถีชีวิตของชาวไทยภาคเหนือ เป็นผู้รักสงบ สันโดษ และมีจิตใจสูง มีดวงหน้าอันยิ้มแย้มแจ่มใส่เสมอ มีความสุขและความพอใจในชีวิต ไม่ละโมบ อันเป็นหนทางนำชีวิตไปสู่สันติสุข


ก็จบไปแล้วนะครับสำหรับประมวล ประเพณีไทย ของภาคเหนือทั้ง 12 เดือนว่ามีอะไรบ้างในแต่ละเดือนและเดือนต่างๆ ของชาวเหนือเค้าเรียกกันอย่างไรกันบ้างสำหรับบทความต่อๆ ไปผมจะมานำเสนอประเพณีภาคเหนือที่เจาะลึกมากยิ่งขึ้นว่า ประเพณีต่างๆ นั้นเป็นอย่างไรมีกิจกรรมหรือพิธีการใดๆ บ้างที่ต้องทำ สำหรับบทความนี้ก็ขอจบไว้เพียงเท่านี้ก่อนครับ
Share this Google+